วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

ประโยชน์

      

☺... ประโยชน์ ...☺



       ตะกร้อเป็นกีฬาไทยที่เล่นกันแพร่หลายมานานนับศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นตามชนบท ในวัด ในวัง ในเมือง จะพบเห็นการเล่นตะกร้อเสมอ เพราะตะกร้อไม่ต้องใช้บริเวณพื้นที่กว้างขวางเหมือนกีฬาประเภทอื่น ๆ อุปกรณ์ก็หาได้ง่าย ทั้งผู้เล่นก็ไม่จำกัดรูปร่าง เพศหรือวัย ตลอดจนไม่จะกัดผู้เล่นตายตัว อาจยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมการเล่นตะกร้อจึงได้รับความนิยมตลอดมาซึ่งผู้เล่นจะได้รับประโยชน์จากการเล่นทั้งทางตรงและทางอ้อมนับอเนกประการดังนี้ 

1 ) ตะกร้อเป็นกีฬาที่ประหยัด

       ลงทุนน้อยแต่เล่นได้หลายคน คุ้มค่าเงิน สามารถร่วมทุนกันคนละเล็กละน้อยหรือผลัดกันซื้อก็ได้ ทั้งลูกตะกร้อก็มีความทนทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารู้จักใช้และรู้จักเก็บรักษาให้ดี

 2 ) การเล่นตะกร้อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

       ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสและที่สำคัญผู้ที่เล่นตะกร้อยังได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่ส่งเสริมกีฬาศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของชาติอีกด้วย

 3 ) การเล่นตะกร้อยังเป็นพื้นฐานของการเล่นกีฬาปะเภทอื่นได้เป็นอย่างดี

       เพราะทำให้ผู้เล่นรู้จักวิธีการครอบครองลูก รู้จังหวะเข้าออก จังหวะการเตะ โดยให้มีความสัมพันธ์ระหว่างมือ เท้า อวัยวะต่างๆ ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกัน สร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดความแข็งแรงและความอดทนอีกด้วย 

 4 ) การเล่นตะกร้อสามารถเล่นคนเดียวก็ได้

       หรือถ้ามีผู้เล่นมากขึ้นก็สามารถปรับการเล่นได้ตามความเหมาะสม อันตรายจากการเล่นตะกร้อนั้นมีน้อยมาก เพราะจะไม่มีการปะทะหรือถูกต้องตัวกันระหว่างผู้เล่นด้วยกันเอง หรือแม้แต่อุปกรณ์การเล่น ก็มิได้ทำให้เกิดอันตราย ถ้าผู้เล่นรู้จักสังเกตว่ามีอุปกรณ์ใดชำรุดก็ปรับเปลี่ยนหรือซ่อมแซมให้พร้อมก่อนที่จะเล่น การเคลื่อน ที่ด้วยความระมัดระวังก็จะทำให้เกิดการหกล้มเสียหลักได้ยาก และการเล่นตะกร้อนั้นสามารถใช้อวัยวะได้หลายส่วน ทำให้ไม่เกิดการบอบช้ำเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอีกด้วย 

5 ) การเล่นตะกร้อ

       เป็นการฝึกให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไว ปราดเปรียว เพราะต้องมีความระมัดระวังตัวและเตรียมตัวพร้อมที่จะเข้าเล่นลูกในลักษณะต่างๆ อยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนไหวก็ต้องกระทำด้วยความรวดเร็วกระฉับกระเฉง เพื่อให้ทันกับจังหวะที่จะเล่นลูก 

6 ) การเล่นตะกร้อเป็นการฝึกให้เป็นผู้ที่มีอารมณ์เยือกเย็น

      สุขุม รอบคอบ เพราะการเล่นหรือการเตะลูกแต่ละครั้งจะต้องอาศัยสมาธิ และความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ถ้าหากใจร้อนหรือลุกลี้ลุกลน การเตะแต่ละครั้งก็จะเสียไป ทำให้เล่นผิดพลาดได้บ่อยๆ ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะพ่ายแพ้แก่คู่แข่งขันได้ง่าย 

7 ) การเล่นตะกร้อเป็นการฝึกการตัดสินใจ

       เพราะก่อนการเล่นลูกทุกครั้งจะต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทาง ความเร็ว ความแรงและลักษณะการหมุนของลูก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจว่าต้องเล่นลูกด้วยท่าใด ส่งลูกไปยังทิศทางใด การกะระยะส่งลูก เป็นต้น 

8 ) การเล่นตะกร้อจะช่วยประสานหน้าที่ของอวัยวะในร่างกายให้มีระบบการทำงานดีขึ้น

       และเป็นการฝึกประสาทได้เป็นอย่างดี เพราะการเล่นลูกแต่ละครั้งต้องอาศัยระหว่างความสัมพันธ์ ระหว่างประสาทกับกล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ เพื่อทำให้การเตะและการเล่นลูกเป็นไปอย่างราบรื่น นิ่มนวลและได้จังหวะ ทั้งจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบ มีการแก้ไขปัญหาตลอดเวลาที่เล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นเพื่อแข่งขัน จะต้องมีการวางแผนการเล่นโดยอาศัยปัจจัยหลายประการ เนื่องจากการแข่งขันจะชี้ได้ว่าใครมีเชาว์ปัญญา ปฏิภาณไหวพริบดีกว่าหรือมากกว่ากัน

9 ) การเล่นตะกร้อก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

       ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งผู้เล่นและผู้ชม การร่วมวงเล่นตะกร้อมักจะมีการส่งเสียงแสดงความดีใจพอใจตลอดเวลาในการเล่น หรือการเตะท่าพลิกแพลงต่างๆ ของผู้เข้าร่วมวงอยู่เสมอ จึงก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างผู้เล่นด้วยกัน รู้จักหน้าที่รับผิดชอบและให้โอกาสแก่ผู้อื่น เกิดมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีมีความเข้าอกเข้าใจ รู้นิสัยใจคอกันดีขึ้น ยอมรับผิดและให้อภัยกันเสมอ นับเป็นการช่วยส่งเสริมให้เข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

10 ) การเล่นตะกร้อนั้นเล่นได้ไม่จำกัดเวลา

       คือจะเล่นเวลาใดก็ได้ตามความประสงค์ของผู้เล่น ทั้งระยะเวลาในการเล่นก็ไม่กำหนดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพอใจของผู้เล่น 

11 ) กีฬาตะกร้อเล่นได้ไม่จำกัดสถานที่

      อาจจะเป็นในร่มหรือกลางแจ้ง ทั้งสภาพของสนามก็ไม่เป็นอุปสรรคมากมายนัก ขนาดของสนามก็ยืดหยุ่นได้ไม่ตายตัวเหมือนกีฬาอื่น ๆ

12 ) ตะกร้อเป็นกีฬาที่เหมาะสมกับบุคคลทุกเพศทุกวัย

      เพราะเป็นกีฬาที่ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป สามารถปรับการเล่นตามความสามารถและกำลังของผู้เล่นได้ ทั้งในด้านทักษะก็มีหลายระดับชั้น ซึ่งดูเหมือนจะท้าทายและจูงใจผู้เล่นไม่รู้จบสิ้น ผู้เล่นสามารถพัฒนาทักษะไปตามวัย นอกจากนั้นอาจเล่นเพื่อความสวยงาม เพื่อการออกกำลังกาย เพื่อการแสดง หรือเพื่อการแข่งขันก็ได้






☺☺☺☺

กติกาใหม่เซปักตะกร้อ

กติกาใหม่เซปักตะกร้อ
       วงการเซปักตะกร้อได้ร่วมปรับเปลี่ยนกฏกติกามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการขยายความนิยมไปยังต่างชาติต่างทวีปทั้งยุโรปและมหาอำนาจฝั่งอเมริกา
       ไล่เรียงมาจากการปรับวิธีการนับคะแนนให้เป็นระบบเรียลลี่พอยท์เซ็ตละ 21 คะแนน แต่ถึงกระนั้นเรื่องวัสดุของลูกเซปักตะกร้อก็โดนต่อว่าต่อขานไม่น้อย จนต้องมีการผลิตลูกเซปักตะกร้อชนิดใหม่ ซึ่งใช้พลาสติกที่นิ่มกว่าของเดิมและเพิ่มบุยางรอบลูกตะกร้อ ส่งผลให้ลูกตะกร้อนุ่มและหยืดหยุ่นน่าเล่นมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ประเทศต่างๆหันมาสนใจมากนัก   ล่าสุดสหพันธ์เซปักตะกร้อนานาชาติ(ISTAF) ได้ปรับกติกาใหม่ ซึ่งเน้นในเรื่องการเพิ่มโอกาสการชนะของชาติที่เป็นรอง การลดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ และการทำให้เกมสนุกเร้าใจมากขึ้น ดังจะขอแจกแจง 3  กติกาข้อใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงดังนี้
1. หาผู้ชนะโดยใช้ ระบบการเล่น 3 ใน 5 เซ็ต เซ็ตละ 15 คะแนน มีเพดานแต่ละเซ็ตอยู่ที่  17 คะแนน จากเดิมที่เล่นแบบ 2 ใน 3 เซ็ต เซ็ตละ 21 คะแนน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้แต้มในแต่ละเซ็ตสั้นลง เพิ่มโอกาสการชนะให้ทีมที่เป็นรอง โดยเฉพาะฝั่งยุโรปที่เครื่องร้อนเร็วและถนัดในเกมสั้น
2. แต่ละทีมจะได้สิทธิ์เสิร์ฟลูกติดต่อกัน 3 แต้ม และผลัดกันเสิร์ฟจนจบเซ็ต กติกานี้จะลดความได้เปรียบของชาติที่มีตัวเสิร์ฟเก่งๆโดยเฉพาะทีมชาติไทย  ซึ่งถ้าเป็นกติกาเดิมทีมใดมีตัวเสิร์ฟที่ดีก็อาจทำแต้มได้ 10 แต้มรวด ทั้งนี้ยังทำให้เกมสนุกขึ้นเพราะผู้ชมจะได้ดูทั้งการรุกและรับของแต่ละทีมด้วย
3. แต่ละเซ็ตสามารถเปลี่ยนผู้เล่นได้ 2 คน  ซึ่งจากเดิมเราแทบจะไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนตัวระหว่างการเล่นเลย เมื่อมีกติกานี้ทำให้แต่ละทีมต้องพัฒนารูปแบบการเล่นให้หลากหลายทั้งเกมรับและรุกเพื่อแก้เกมของคู่ต่อสู้
การเปลี่ยนแปลงกติกาครั้งนี้ได้ใช้ครั้งแรกในการแข่งขันเซปักตะกร้อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าการแข่งขันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักกีฬาผู้ฝึกสอนและกองเชียร์ จึงได้สืบเนื่องมาที่รายการสำคัญอย่าง การแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก “ISTAF World Cup 2011” ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทีมชาติไทยยังคงเป็น 1 ในวงการเซปักตะกร้อโลกทั้งทีมชายและหญิง และแน่นอนว่ากติกานี้จะถูกใช้ในทุกรายการทั้ง ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และจะต้องมีการผลักดันให้เกิดขึ้นในกีฬาโอลิมปิคให้ได้ต่อไป


Credit: http://sport.mthai.com/sport-variety/43310.html

ประวัติความเป็นมากีฬาเซปักตะกร้อในประเทศไทย

ประวัติกีฬาตะกร้อในประเทศไทย



       ในสมัยโบราณนั้นประเทศไทยเรามีกฎหมายและวิธีการลงโทษผู้กระทำความผิด โดยการนำเอานักโทษใส่ลงไปในสิ่งกลมๆที่สานด้วยหวายให้ช้างเตะ แต่สิ่งที่ช่วยสนับสนุนประวัติของตะกร้อได้ดี คือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาของรัชกาลที่ 2 ในเรื่องมีบางตอนที่กล่าวถึงการเล่นตะกร้อ และที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ก็มีภาพการเล่นตะกร้อแสดงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้

       โดยภูมิศาสตร์ของไทยเองก็ส่งเสริมสนับสนุนให้เราได้ทราบประวัติของตะกร้อ คือประเทศของเราอุดมไปด้วยไม้ไผ่ หวายคนไทยนิยมนำเอาหวายมาสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านด้วย อีกทั้งประเภทของกีฬาตะกร้อในประเทศไทยก็มีหลายประเภท เช่น ตะกร้อวง ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อชิงธงและการแสดงตะกร้อพลิกแพลงต่างๆ ซึ่งการเล่นตะกร้อของประเทศอื่นๆนั้นมีการเล่นไม่หลายแบบหลายวิธีเช่นของไทยเรา การเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า , หนังสัตว์ , หวาย , จนถึงประเภทสังเคราะห์ ( พลาสติก )

ความหมาย คำว่า ตะกร้อ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า " ลูกกลมสานด้วยหวายเป็นตา สำหรับเตะ "